ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของมูลนิธิ ฯ

ปีจุดประกายแนวทางการพัฒนาชุมชน

เมื่อปี พ.ศ. 2540  อาจารย์สอวี มามะ อาจารย์โรงเรียนบ้านบูเกะตา ได้เล็งเห็นถึงเยาวชนไม่มีอาชีพและไม่มีกิจกรรมเพื่อคลายความวิตกในชีวิตตัวเอง  สถานการณ์นั้นส่อเสี่ยงในเรื่องยาเสพติด จน ได้มีการรวบรวมบรรดาเยาวชนในเขตสุขาภิบาล (สมัยนั้น) ได้จำนวน  29  คน  กิจกรรมมีการประชุมพบปะพูดคุย ปรึกษาหารือ ที่บ้านอาศัยของตนเองเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยใช้เวลากลางคืน มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งที่ประชุมมีการนำเสนอประเด็นการอาชีพที่หลากหลายประเภทขึ้นเพื่อรองรับ และก็มีการสรุปกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ การเพาะเห็ด  จึงได้มีการเชิญอาจารย์ ซาการียา บิณยูซูฟ หรือ ครูยา  (ผู้เขียน)  อาจารย์จากโรงเรียนรอมาเนีย และทำงานให้กับมูลนิธิโรงเรียนรอมาเนีย โดยได้มีการเปิดสอนวิชาการอาชีพเพาะเห็ดในโรงเรียน มาช่วยอธิบายทำความเข้าใจในรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเพาะเห็ด  ซึ่งที่ประชุมนั้น เยาวชนได้ให้ความสนใจที่จะทำการศึกษา ก็ได้มีการดำเนินกิจกรรมพบปะพูดคุยอย่างเนื่อง ต่างเวลา ต่างสถานที่ และต่างสถานการณ์  พอมาปลายปี พ.ศ. 2540  จึงได้เริ่มมาฝึกเรียนรู้และฝึกปฏิบัติขึ้นเป็นระยะเวลา  2  วัน กับ 1 คืน ณ โรงเรียนรอมาเนีย โดยใช้หลักสูตร การเรียนการสอนในระบบโรงเรียน ใช้งบประมาณของมูลนิธิโรงเรียนรอมาเนียจำนวน  4,000 บาท ( ค่าอาหาร ค่าวัสดุในการเพาะเห็ด ) ทีมเยาวชนทั้ง  29 คน ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบชาวบ้าน ( ฝึกปฏิบัติทันที ) หลังจากการฝึกปฏิบัติมีความชำนาญ คิดริเริ่มในการก่อตั้ง กลุ่มเพาะเห็ดเยาวชนบูเกะตาขึ้น จึงได้หาแหล่งสนับสนุนงบประมาณ เพื่อจัดทำโรงเรือน โดยได้รับการสนับสนุนจาก กรมประชาสงเคราะห์จังหวัดนราธิวาส ( ว่าที ร้อยตรีดิลก ศิริวัลลภ ) ให้การสนับสนุนงบประมาณ จำนวน 15,000  บาท และมูลนิธิโรงเรียนรอมาเนีย  5,000 บาท เพื่อดำเนินการในการก่อสร้างโรงเรือนขนาด 8 X 10  เมตร และโรงเรือนสำหรับผสมอาหารเสริมอีก 1 หลัง  ต้นปี พ.ศ.  2541  เริ่มดำเนินการสร้างโรงเรือนขึ้น โดยสมาชิกกลุ่มเป็นผู้จัดหา วัสดุในการก่อสร้าง เช่น ตัดไม้จากสวนยางของสมาชิกกลุ่มร่วมกันดำเนินการ จนแล้วเสร็จ และดำเนินการเพาะเห็ดที่นิยมในท้องตลาด คือพันธ์ภูฐานดำจนสามารถผลิตดอกเห็ดได้ และเก็บผลผลิตมา จำหน่าย  5 -10  กิโลกรัมต่อวัน โดยได้มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

ปีแห่งการรอคอยสนับสนุนจากภาครัฐ

เมื่อ ปี  2544  ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ  ตามโครงการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนภายใต้แผนงานด้านชุมชนในงบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ  2545  ซึ่งเป็นการประจวบเหมาะที่ทางกลุ่มฯ มีความประสงค์ที่ขยายฐานการผลิตและเพิ่มผลผลิต เพราะมีความต้องการของตลาดสูง จึงได้ดำเนินการเขียนโครงการขยายงานพัฒนาอาชีพกิจกรรมเพาะเห็ดในวงงบประมาณ  942,906 บาท  (รหัสโครงการ 9608-8913-4-0010) โดยแบ่งออกเป็น  2 ส่วน คือ กิจกรรมของเยาวชนเพาะเห็ดจำนวน  558,521 บาท  ( ห้าแสนห้าหมื่นแปดพันห้าร้อยยี่สิบเอ็ดบาท) และกิจกรรมกลุ่มสตรีปักจักร  จำนวน   384,385 บาท  ( สามแสนแปดหมื่นสี่พันสามร้อยแปดสิบห้าบาท) ซึ่งเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกัน โครงการนี้ได้งบประมาณหลวง จำนวนทั้งสิ้น  942,906 บาท ( เก้าแสนสี่หมื่นสองพันเก้าร้อยหกบาท) งบประมาณผ่านหน่วยงานรัฐคือเทศบาลตำบลบูเกะตา ทางกลุ่มเปิดบัญชีกลุ่ม ชื่อกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดเยาวชนเทศบาลตำบลบูเกะตา เลขที่บัญชี 155-2-47318-2  เมื่อวันที่  24  มีนาคม  2546 ธนาคารเกษตรเพื่อและสหกรณ์ สาขาแว้ง   ทางกลุ่ม ฯ ได้ดำเนินปฏิบัติการตามแผนงานโครงการทุกขั้นตอนทันที  การจัดซื้อประเภทเครื่องจักรหลายรายการ ตามแนวทางการผลิตลักษณะโรงงานผลิต  เช่น ประเภทโรงเรือน  ระบบไฟฟ้า และอื่น ๆ  ที่สำคัญมากไปกว่าได้สำรวจหาที่ดิน เพื่อจัดกลุ่มเพาะเห็ดให้เหมะสม ความสะดวกและคล่องตัวในการดำเนินกิจกรรม จึงได้ที่ดินของผู้น้ำใจงดงาม เสียสละเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมอย่างแท้จริง นั้นคือ  นางสาวฮาสานะ อาดามัน อยู่บ้านเลขที่  18  หมู่ที่  2  ตำบลโละจูด  อำเภอแว้ง  จังหวัดนราธิวาส  ได้ยินยอมให้ กลุ่มอาชีพเพาะเห็ดเยาวชนเทศบาลตำบลบูเกะตา  เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินจำนวน   3   งาน ซึ่งที่ดินอยู่ในเขตชุมชนในเขตเขตเทศบาล การดำเนินกิจกรรมของกลุ่ม ฯ ดำเนินการอย่างเนื่อง สร้างรายได้ให้กับกลุ่ม สร้างความสามัคคีระดับชุมชนขึ้น มีเยาวชนจากพื้นที่ใกล้เคียงมาเรียนรู้  มีความเจริญรุ่งเรือง ขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ อีกหลายพื้นที่อย่างเต่อเนื่อง จนเป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป

ปีแห่งการยกฐานะองค์กรชุมชนเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน

จนกระทั่ง เมื่อปี  2549   กลุ่มอาชีพเพาะเห็ดได้ยกฐานะตัวเองจัดตั้งเป็นองค์กรเอกชนขึ้น  “  มูลนิธิพัฒนาชุมชนเป็นสุข  ”  และได้มีการพัฒนา ศักยภาพ องค์กร บุคลากร และกระบวนการบริหารจัดการองค์กร และได้มีการพัฒนาขีดความสามารถ ยกกระดับการเป็นองค์กร เช่น มีคน มีสำนักงาน มีกิจกรรมและมีแผนปฏิบัติงานอย่างเนื่อง  ตลอดจนได้มีการเชื่อมโยง ประสานไปยังหน่วยงานพัฒนา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อการพัฒนาชุมชนเป็นสุข โดยเฉพาะ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีการผนึกกำลังในเชิงวิชาการ การสร้างกระบวนการเรียนรู้ในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้าง จุดประกาย กระตุ้น สาน และเสริมพลัง บุคคล และองค์กรทุกภาคส่วนให้มีขีดความสามารถและสร้างสรรค์ระบบสังคม ที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะ “  เสริมสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย  ”

การยกฐานะเป็น องค์กรสาธารณประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อขับเคลื่อนงาน สวัสดิการสังคม หมายถึง ระบบการจัดสวัสดิการสังคมซึ่งเกี่ยวกับการป้องกัน การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการส่งเสริมความมั่นคงทางสังคม เพื่อตอบสนองความจำเป็นขั้นพื้นฐานของประชาชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และพึ่งตนเองได้อย่างทั่วถึง เหมาะสมเป็นธรรม และให้ตามมาตรฐาน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาสพอนามัย ที่อยู่อาศัย การทำงานและการมีรายได้ นันทนาการ กระบวนการยุติธรรม และการบริการทางสังคมทั่วไป โดยคำนึงศักดิ์ความเป็นมนุษย์สิทธิที่ประชาชนต้องได้รับ และการมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ